ข้อแนะนำในการใช้

มาตรประมาณค่า มีข้อแนะนำเช่นเดียวกับแบบสำรวจรายการ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่มีข้อแตกต่างเพิ่มเติม ดังนี้

1. ต้องอธิบายความหมายของระดับคุณภาพในแต่ละระดับให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ใช้แบบประเมินเข้าใจความหมายตรงกัน

2. การใช้มาตรประมาณค่าในการประเมินพฤติกรรมนักเรียน ต้องระมัดระวังความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดจากตัวผู้ประเมินเอง เช่น


      2.1 ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากความลำเอียง(Hallo Affect) ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งทางบวกและทางลบ เช่น นักเรียนคนหนึ่งเป็นคนขยัน ตั้งใจเรียน และช่างซักถาม มีน้ำใจ ทำให้ครูเอ็นดู เวลาให้คะแนนจึงให้คะแนนสูงกว่าที่เป็นจริง หรือ ในทางตรงข้าม นักเรียนคนหนึ่งขี้เกียจ ชอบแสดงกริยาไม่ดีต่อครู เวลาให้คะแนนจึงให้ต่ำกว่าที่เป็นจริง
      2.2 ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากผู้ประเมินเป็นคนใจกว้างเกินไป (Generosity Error) มักเกิดกับครูที่ใจดี ขี้สงสาร เวลาประเมินเลยปล่อยคะแนนสูงกว่าความเป็นจริง เพราะสงสารลูกศิษย์
      2.3 ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากผู้ประเมินเป็นคนเข้มงวดเกินไป(Severity Error) มักเกิดกับครู ที่มีลักษณะนิสัยเข้มงวด หรือเคร่งครัดมาก ๆ ใครทำอะไรก็ไม่ถูกไปหมด เวลาประเมินเลยกดคะแนนต่ำ กว่าความเป็นจริง
      2.4 ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากผู้ประเมินที่ชอบประเมินระดับกลาง ๆ (Central Tendency Error) มักเกิดกับผู้ประเมินที่ไม่รู้ในสิ่งที่จะประเมินอย่างแท้จริง จึงประเมินระดับกลาง ๆ ไว้ก่อน
      2.5 ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากผู้ประเมินเชื่อในเรื่องพิมพ์เดียวกัน (Stereotype Error) เช่น ครูมีความเชื่อว่าคนจีนเป็นคนขยันเวลาประเมินนักเรียนที่มีเชื้อสายจีนจึงให้คะแนนความขยันสูง ๆ ไว้ก่อน หรือ เมื่อปีก่อนสอนนักเรียนคนพี่ซึ่งเรียนอ่อนมาก ในปีนี้สอนน้อง จึงประเมินให้ต่ำ เพราะเชื่อว่าน้องย่อมเหมือนพี่
      2.6 ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากเหตุผลบางประการ (Logical Error) โดยนำคุณลักษณะหนึ่งในตัวนักเรียนไปสัมพันธ์กับอีกคุณลักษณะหนึ่ง เช่น นำความสามารถทางสติปัญญา ของนักเรียนไปสัมพันธ์กับความสามารถในการปฏิบัติ เลยให้คะแนนการปฏิบัติกับนักเรียนที่เรียนเก่งสูงกว่าความเป็นจริง